ประวัติความเป็นมา
เมื่อปี พ.ศ. 2519 ได้มีการเคลื่อนไหวทางสื่อมวลชนว่า
เกาะเสม็ดหรือเกาะแก้วพิสดาร เกาะในวรรณคดีไทยเรื่องพระอภัยมณี
ซึ่งเป็นวรรณคดีชิ้นเอกของท่านสุนทรภู่ เป็นเกาะเพชรเม็ดเอกของทะเลฝั่งตะวันออก กำลังทรุดโทรมเนื่องจากความสกปรกจากการทิ้งขยะของนักท่องเที่ยวและชาวบ้านเริ่มมาสร้างเพิงพักและร้านอาหาร
บุกรุกแผ้วถางตัดไม้ทำลายป่าเพื่อให้ได้พื้นที่บริการ ดังนั้น
กรมป่าไม้จึงได้สั่งการให้ นายวิจารณ์ วิทยศักดิ์ นักวิชาการป่าไม้ 5 ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายจัดการวนอุทยาน กองอุทยานแห่งชาติ
ดำเนินการสำรวจข้อมูลปรากฎ ขณะนั้นทางจังหวัดระยอง กำลังร่วมมือกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยว ( อ.ส.ท. ) วางแผนการพัฒนาเกาะเสม็ดเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่การดำเนินงานประสบอุปสรรค ทำให้ไม่บรรลุผลตามเป้าหมาย ประกอบกับกลุ่มนิสิต นักศึกษา ตอลดจนนักอนุรักษ์ธรรมชาติ และผู้นำท้องถิ่นไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้สัมปทานดำเนินการท่องเที่ยวบนเกาะเสม็ดกับเอกชนรายใดรายหนึ่ง และไม่เห็นด้วยกับการสร้างกระเช้าไฟฟ้าข้ามจากชายฝั่งมายังเกาะเสม็ด มีการต่อต้านและเดินขบวนทำให้การดำเนินงานของ อ.ส.ท. ร่วมกับจังหวัดระยองหยุดชะงัก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 คณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศิลปกรรม ได้เสนอให้กรมป่าไม้เข้าไปดำเนินการอนุรักษ์เกาะเสม็ดไว้ในรูปของวนอุทยาน ดังนั้น กรมป่าไม้โดยกองอุทยานแห่งชาติจึงได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลอีกครั้งหนึ่ง โดยให้รวมถึงเขาเตี้ยๆ ที่อยู่ริมทะเลบริเวณตำบลบ้านเพที่เรียกว่า เขาเปล็ด - เขาแหลมหญ้า และ ชายหาดแม่รำพึง ที่อยู่ต่อจากเชิงเขา รวมถึงเกาะเล็กเกาะน้อยที่อยู่ใกล้เคียงกับเกาะเสม็ด เพื่อจัดตั้งเป็น อุทยานแห่งชาติทางทะเล ต่อไป
เขาแหลมหญ้า และหาดแม่รำพึง ซึ่งทอดยาวประมาณ 12 กิโลเมตร เกาะเสม็ด เกาะกุฎี เกาะท้ายค้างคาว เกาะกรวย เกาะมะขาม เกาะเกล็ดฉลาม เกาะปลายตีน เกาะยุ้งเกลือ เกาะทะลุ เกาะสันฉลาม รวมพื้นที่ประมาณ 131 ตารางกิโลเมตร หรือ 81,875 ไร่ ในท้องที่ตำบลบ้านเพ อำเภอเมือง และตำบลแกลง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งได้นำเสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และในที่สุดก็สามารถออกพระราชกฤษฎีกา ประกาศจัดตั้งเป็น "อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า - หมู่เกาะเสม็ด" ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2524 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 162